โลกการทำธุรกิจจะเปลี่ยนหน้าตาไปจากเดิม หลังวิกฤตโควิด-19 ผ่านพ้น สิ่งสำคัญไม่ใช่แค่การอยู่รอดให้ได้ในวิกฤต แต่ชีวิตหลังวิกฤตนั้นผู้ประกอบการจะต้องทำยังไง แต่ในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส ขอเพียงไม่ท้อ และคิดบวก ถ้าไม่เห็นโอกาสอะไรเลย อย่างน้อยก็เป็นโอกาสในการเรียนรู้
และนี่คือ 10 ปรากฏการณ์ที่จะมาเขย่าโลกธุรกิจเมืองไทยหลังวิกฤตโควิด-19 นับเป็นโอกาสของธุรกิจต่างๆ ที่หากปรับตัวทัน ก็สามารถสร้างรายได้ให้เติบโต

ปลายปี 2545 หรือ 18 ปีที่แล้ว ไวรัสซาร์สระบาด หลังจากนั้นเกิดแพลตฟอร์ม ศูนย์รวมธุรกิจแบบที่มีการสั่งซื้อของกันทางออนไลน์ ทั้งระหว่างบริษัทกับบริษัท (Business to Business) และบริษัทกับลูกค้า (Business to Consumer) ในจีน มาในยุดโควิด-19 การช็อปปิ้งออนไลน์ ที่เคยเป็นลักษณะที่รู้สึกว่าดีที่มีบริการนี้ ต่อไปก็กลายเป็นบริการที่รู้สึกว่าต้องมี อย่างเช่น ในสถานบันเทิงแห่งหนึ่งในจีน ยังคงมีบริการเดลิเวอรี่ต่อเนื่องในปัจจุบัน และการเดลิเวอรี่ ไม่ใช่ให้คนไปส่งของ สำคัญกว่านั้นคือมีหุ่นยนต์ช่วยส่ง เพื่อป้องกันคนมาสัมผัสกัน จนเสี่ยงต่อการระบาดของโรค

เป็นที่ชัดเจนว่าธนบัตร เหรียญที่หมุนเวียนผ่านมือคนจำนวนมาก มีเชื้อโรคติดอยู่ การใช้การ์ด หรือเงินในระบบอิเล็กทรอนิกส์จ่ายก็ปลอดภัยที่สุด ในบางประเทศสามารถใช้ระบบนี้ได้เพราะเครือข่าย และอุปกรณ์สื่อสารพร้อม แต่ในโลกนี้ยังมีคนอีกกว่า 1,700 ล้านคนที่ยังเข้าไม่ถึงเงินแบบดิจิทัล ที่ต้องมีอินเตอร์เน็ต มือถือที่ดีเพียงพอในการใช้ระบบนี้ได้

แน่นอนการทำงานที่บ้านจำเป็นต้องมีเทคโนโลยี อุปกรณ์ การเข้าถึงระบบเครือข่ายของออฟฟิศ การประชุม ที่ต้องรักษาความปลอดภัย และพื้นที่ส่วนตัว ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีเชื่อมต่อจะเติบโตมากยิ่งขึ้นขณะเดียวกันหลายองค์กร เริ่มมองเห็นโอกาสในการจ้างพนักงานที่อยู่พื้นที่ไกลออกไปได้อย่างไรก็ตามพนักงานเองก็ต้องดูแลตัวเองในด้านความเหงา เพราะทำงานที่บ้าน อยู่คนเดียวนาน

กลางเดือนเม.ย. มีการปิดโรงเรียน และมหาวิทยาลัยใน 191 ประเทศ กระทบนักเรียนกว่า 1,570 ล้านคน และจำนวนมากต้องเรียนจากที่บ้านเทคโนโลยีที่นำมาใช้สอน เช่น เสมือนจริงทั้งแบบ Virtual reality และ Augmented reality, ภาพ 3 มิติ และ ครูหุ่นยนต์ ที่ประมวลผลมาแล้วด้วย AI (Artificial Intelligence) ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือ พ่อแม่ต้องอยู่บ้านดูแลลูกด้วย ก็อาจมีผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของพ่อแม่เอง

คนจะมีอุปกรณ์ติดตัว แบบสวมใส่ไว้กับตัว เพื่อคอยเกาะติด และประมวลผลสุขภาพ มีระบบแชตบอต พูดคุยปรึกษาปัญหาสุขภาพ แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับคุณภาพของ เครือข่ายสื่อสาร และความสามารถในการจ่ายเพื่อใช้บริการ

แน่นอนว่าเราคงไปกรี๊ดชมคอนเสิร์ต ในที่คนหนาแน่นไม่ได้อีกนาน ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะนานแค่ไหน และนี่คือเวลาที่ธุรกิจความบันเทิงต้องปรับตัว ให้ส่งผ่านทางออนไลน์มากขึ้น อย่างที่เห็นตอนนี้ แม้แต่สถานที่ อย่างแกลเลอรี่ พิพิธภัณฑ์ ก็เปิดให้ชมได้ผ่านออนไลน์แล้ว

หลายธุรกิจเจ๊งไป แต่หลายธุรกิจไปได้ดี โดยเฉพาะอาหาร ของใช้จำเป็น แต่สิ่งเหล่านี้ต้องการเทคโนโลยีมาจัดการ ตั้งแต่การใช้อินเตอร์เน็ตมาเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ การประมวลผลบิ๊กดาต้า เพื่อบริหารจัดการเครือข่ายการผลิต ส่งถึงลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

มนุษย์โลกต้องการอุปกรณ์ป้องกันโรคติดต่อมากขึ้น ออกจากบ้านต้องใส่หน้ากากอนามัย คนทำงานที่ต้องสัมผัสผู้คนจำนวนมาก ก็ต้องมีชุดป้องกันเต็มที่ แน่นอนว่าเทคโนโลยี 3D Printing การขึ้นรูปชิ้นงานได้หลากหลาย และปรับเปลี่ยนการผลิต เพื่อตอบโจทย์ความต้องการใหม่จึงสำคัญ

ช่วงโรคระบาด ถ้าไม่จำเป็นผู้คนไม่อยากเจอหรือสัมผัสกันมากนัก และ 2 สิ่งนี้มีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่หุ่นยนต์ และโดรน เป็นตัวช่วยมนุษย์หลายหน้าที่ ตั้งแต่ช่วยส่งของ วัดไข้ ลดการสัมผัสระหว่างผู้ป่วยกับบุคลากรทางการแพทย์ได้จำนวนมาก

5G สำคัญ และทั่วโลกต้องลงทุนพัฒนา เพื่อให้เครือข่ายสื่อสารมีสปีดเร็ว และที่สำคัญในราคาที่คนส่วนใหญ่พอจะจ่ายได้ จากนี้จึงจะเห็นทั่วโลกเร่งลงทุน 5G ให้ครอบคลุมมากขึ้น
จาก 10 เทรนด์นี้ จะเห็นว่าเมื่อวิกฤติ เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง และนี่เป็นเวลาที่มนุษย์ต้องปรับตัวครั้งสำคัญ ถ้าไม่ท้อแท้ ไม่ท้อถอย และคิดบวกก็จะมองเห็นโอกาสในทุกๆ วิกฤตเสมอ ฉะนั้น จึงควรใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส และไม่มีอะไรสำคัญกว่าสุขภาพของตัวเอง จงรักษาสุขภาพ และใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาทอยู่ตลอดเวลา